“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” อาการขมๆ จากสังคมที่เข้าใจผิด
“เดือนแรกไม่ชินเลย รู้สึกเหมือนลูกเป็นคนแปลกหน้า ไม่ใช่คนที่อยู่ในท้องเรามา 9 เดือน เรามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจนต้องพบหมอ เพราะมันเริ่มกระทบร่างกายเยอะ เลี้ยงลูกเสร็จนอนไม่หลับ ปวดหัวข้างเดียว มีเสียงวิ้งๆ คิดอยากตาย หงุดหงิดใส่ลูกเยอะมาก บางทีอุ้มลูกอยู่ก็วางเลย แล้วกรี๊ด รู้สึกแย่ แต่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จากคนที่เคยอยากไปไหนก็ไป อยากทำอะไรก็ทำ มันเหมือนติดกับตัวเอง ทำอะไรก็ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย”
“เรามีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย เนื่องจากตอนนั้นออกจากงานมาเลี้ยงลูกเต็มตัว ก็รู้สึกไม่ค่อยโอเคกับตัวเองเท่าไรในเรื่องของรายได้ ที่ต้องขอสามีอย่างเดียว กลัวกับอนาคตว่าจะไม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีอนาคตที่ดีได้ คิดว่าพอลูก 6 เดือน จะไปหางานทำใหม่ ก็มีท้องคนที่ 2 ต่ออีก ทำให้มีอาการภาวะซึมเศร้าอยู่ประมาณ 1 ปี เนื่องจากกลัวอนาคต”
“ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร คิดว่าประสาท คือมันไม่มีเรื่องให้ต้องรู้สึกแย่เลยค่ะ แต่จู่ๆ ก็เศร้ามาก ฉันเป็นแม่ไม่ได้หรอก ฉันไม่ดีพอ เป็นแม่เฮงซวย ฉันไม่อยากให้ลูกมีแม่แบบนี้ ลูกจะเป็นอย่างไร โตอย่างไร สามีตื่นมาเห็นร้องไห้ก็บอก ไม่เอา อย่าทำแบบนี้ ก็หยุดไม่ได้ ตอนนั้นสามีเอาลูกไปเลี้ยงเองเลย เธออยู่เฉยๆ ไม่ต้อง ฉันเอง แล้วมันก็หายเอง”
ปากคำของคุณแม่ 3 คน เกี่ยวกับประสบการณ์ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” บ่งบอกได้ว่าภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงมาเนิ่นนาน แม้ในอดีตจะยังไม่มีคำอธิบายภาวะนี้ จนทำให้คนสมัยก่อนมองว่าเป็นโรคประสาท แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้รับการอธิบายว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายหลังคลอด ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจของแม่หลังจากคลอดบุตร
อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ เพราะหากมองในมุมของเพศภาวะ ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาททางเพศของผู้หญิง ก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย ดังนั้น Sanook! News จึงอยากชวนคุณไปฟังมุมมองอีกด้านจากผู้เชี่ยวชาญ และฟัง “เสียง” ของเหล่าแม่ๆ ว่าความคาดหวังจากสังคมส่งผลต่อพวกเธออย่างไร
สังคมสร้างภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร
รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ผอ.ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านเพศภาวะและสุขภาพสตรี